Woollahra House by Nobbs Radford Architects บ้านสวยสไตล์ยุโรปกึ่งผสมผสาน ตั้งอยู่ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ออกแบบโดย Nobbs Radford จริงๆแล้ว คำว่า Woollahra House นั่นมาจากคำที่ใช้เรียกคฤหาสน์สองหลังที่สร้างในพื้นที่เดียวกัน โดยมีประวัติที่มาโดย เซอร์ ดาเนียล คูเปอร์ ในปี ค.ศ. 1856 และ วิลเลี่ยม ชาร์ลี คูเปอร์ ซึ่งเป็นลูกชายได้สร้างหลังที่สองขึ้นในพื้นที่เดียวกัน
แนวคิดของการออกแบบ เน้นองค์ประกอบภายนอกที่เชื่อมต่อกับภายในตัวบ้าน มองภายนอกตัวบ้านมีโทนสีเขียวอ่อนแบบสีพาสเทลดูนวลตา แต่ภายในจัดองค์ประกอบของสไตล์บ้านได้แบบหลากหลาย มีความโมเดิร์นและความคลาสสิก ผสมกันได้อย่างลงตัว ฌอน แรดฟอร์ดกล่าวว่า“ ช่องว่างระหว่างกันเป็นสิ่งที่สำคัญต่องานของเรา เราถือว่าช่องว่างเหล่านี้เป็นโอกาสในการเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อม ให้คงความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ แม้จะอยู่ในบ้าน ” เสาและระเบียงก็เป็นอีกแรงบันดาลใจในการออกแบบ
บ้านตั้งอยู่บนถนนที่ค่อนข้างพลุกพล่าน เสียงการจราจรและเสียงรบกวนจากที่พักที่อยู่ติดกัน ผู้ออกแบบจึงต้องคิดค้นวิธีแก้ปัญหา เพื่อลดเสียงรบกวนที่อาจเข้ามารบกวนภายในบ้าน ด้วยพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งด้านหลัง การก่ออิฐในรูปแบบสไตล์ปี 1860 และตัวบันได ทำให้มีความคลาสสิก ทั้งในแง่ของสัดส่วนและมาตราส่วนที่ลงตัว
ระแนงไม้ ที่สวยงามทั้งภายนอกและภายในให้ความเป็นส่วนตัว ช่วยกรองแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามา
พื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งด้านหลัง ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้
ในบริเวณบ้าน คือพื้นที่นั่งเล่นนอกบ้าน ประกอบด้วยม้านั่งสำหรับพักผ่อน อาบแสงแดด เป็นสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย ส่วนพื้นที่ภายในเป็นการผสมผสานระหว่างคอนกรีต พื้นไม้โอ๊ค แบล็กบัตต์ และ หน้าต่างไม้ซีดาร์ สแตนเลส และกระเบื้องหินอ่อนคาร์รารา ที่แสนคลาสสิก มีความดิบของสไตล์ Loft ปนอยู่ในตัวบ้าน
การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของ บ้าน อีกจุดก็คือ การวางองค์ประกอบที่ไม่เหมือนใคร แนวทางการตกแต่งภายใน และการเลือกแบบแบ่งชั้นที่ชัดเจน มีการผสมผสานที่สะท้อนให้เห็น ความสัมพันธ์ระหว่างแสงและวัตถุภายในบ้านได้อย่างสวยงาม
วิศวกร วิเคราะห์
บ้านสมัยใหม่แต่แอบแฝงกลิ่นอายการตกแต่งแบบคลาสสิกไว้ได้อย่างน่าค้นหา บ้านคหบดีในเมืองไทยที่ต้องการถมที่สูงเพื่อหนีน้ำท่วมในอนาคต อาจนำไอเดียดีๆ เรื่องการทำอาคารจอดรถด้านหน้าบ้านแยกต่างหาก ช่วยไล่ระดับสายตาไม่ให้บ้านมีความรู้สึกยกสูงเกินความจำเป็นออกไปได้
ระดับของพื้นด้านนอกอาคารกับด้านในอาคาร มีระดับต่างกันไม่ถึง 1” ช่วยให้เกิดความรู้สึกต่อเนื่องของพื้นที่ ให้ความโล่งสบายทั้งสายตาและจิตใจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุที่อาจมีอยู่ในบ้านอีกด้วย แต่ต้องคำนึงถึงความลาดเอียงของพื้นนอกบ้านให้เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาน้ำล้นเข้าบ้านให้ได้
การปูกระเบื้องแบบสลับแถว ไม่เหมาะอย่างยิ่งหากวัสดุที่ท่านเลือกเป็นวัสดุเกรดทั่วไป ควรเลือกใช้เป็นหินจริง หรือหากเป็นกระเบื้องควรเป็นกระเบื้องเกรดดีเยี่ยมที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศที่ไว้ใจได้เท่านั้น เพราะการปูกระเบื้องสลับแผ่นกันเช่นนี้ มีโอกาสโก่งกลางแผ่นสูงมาก ไม่ว่าผู้ขายจะระบุไว้ข้างกล่องว่าเป็นเกรด AAA แล้วก็ตาม
การใช้ผนังฉาบขัดมัน เป็นเอกลักษณ์ของบ้านสไตล์ลอฟต์ ซึ่งต้องมั่นใจว่าระหว่างก่อสร้าง มีการทำเสาเอ็นทับหลังและการติดกรงไก่กันแตก ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมจริง เพราะผนังที่ฉาบขัดมันแบบต่อเนื่องแผงใหญ่ มีโอกาสแตกร้าวได้สูงมากหากช่างไม่มีความชำนาญ หรือวิศวกรผู้ควบคุมงานไม่กำกับดูแลให้ดีพอ
การใช้ผนังหนาเต็มแผ่น หรือก่อ 2 ชั้นตามความหนาที่ต้องการ หรือแม้แต่ใช้เป็นผนังคอนกรีตเทเพื่อความดิบในอารมณ์ของงาน ให้ความรู้สึกแข็งแรง แน่นหนา ซึ่งต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นเป็น 2-4 เท่า ยิ่งมีการตกแต่งด้วยบัวทั้งภายนอกและภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นบัวปูนปั้นจริงหรือเป็นบัวโพลี่ยูรีเทนก็ตาม ราคาก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว การใช้เครื่องปรับอากาศ (แอร์) แบบท่อ duct นอกจากจะมีราคาค่าติดตั้งสูงกว่าแบบ split type ทั่วไปมากแล้ว ยังมีค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่าและยุ่งยากมากกว่าหลายเท่าอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่รวยจริงทำไม่ได้ครบ
ทำให้ดีตามภาพ สนนราคาไม่น้อยกว่า 30,000 บาทต่อตารางเมตรกันเลยทีเดียว
บิลด์แมน (Buildman) เรามีผู้รับเหมาที่มีความชำนาญ เชื่อถือได้ ให้บริการดูแลเกี่ยวกับการสร้างบ้านครบวงจร พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ ไว้ใจให้บิลด์แมน ดูแลเรื่องการสร้างบ้าน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ https://register.buildman.biz/
ตลาดกลางรับเหมาก่อสร้าง ที่จบครบในที่เดียว “ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ วัสดุก่อสร้าง” พร้อมเป็นคนกลางช่วยบริหารสัญญาก่อสร้าง ฟรี!
อ่านบทความอื่นได้ที่ https://blog.buildman.biz