บ้านที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างออกแบบให้ด้วย ประหยัดจริงหรือ!

จากสถิติรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า การร้องทุกข์เรื่องอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยมีสถิติสูงถึง 19.67% หรือกล่าวได้ว่าในการร้องทุกข์ 5 เรื่องจะมีเรื่องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อยู่ 1 เรื่องเสมอ ซึ่งเรื่องว่าจ้างก่อสร้างเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการร้องทุกข์ดังกล่าว เรื่องนี้เป็นอย่างไร เดี๋ยวบิลด์แมนจะคุยให้ฟัง

 

โดยหัวข้อสำคัญของการพิพาทคือ ผู้รับเหมาทิ้งงาน การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ มีความชำรุดหลังการปลูกสร้าง การก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบแปลน และการเก็บงานไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะใน 2 หัวข้อหลัง คือ การก่อสร้างไม่ตรงตามแบบและการเก็บงานไม่เรียบร้อยนั้น ส่วนใหญ่ คือ ความคาดหวังของผู้ว่าจ้างและความเข้าใจของผู้รับเหมาก่อสร้างไม่ตรงกันนั่นเอง ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย ทั้งๆที่ใช้แบบก่อสร้างตัวเดียวกัน แล้วเกิดความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกันได้อย่างไร

 

มีวารสารวิชาการของ มทร.สุวรรณภูมิฉบับหนึ่งเกี่ยวกับคดีความในงานก่อสร้างที่ถูกจัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 พบว่า สาเหตุสำคัญ 3 ประเด็นแรกในการพิพาทงานก่อสร้างคือ รายละเอียดของสัญญา แบบที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง และรายการคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุ

 

อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี แต่คงเถียงไม่ได้ว่า งานก่อสร้างขนาดเล็ก ที่มีมูลค่านไม่เกิน 20 ล้านบาท มีผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานการทำงานที่ดีและมาตรฐานการให้บริการ แบบเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้บริการนั้น ยังมีไม่มากพอ ในขณะที่ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่มีงบประมาณที่จำกัด จึงมักให้ความสนใจกับเรื่องค่าใช้จ่ายมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ตนเองก็หวังอยากจะได้งานก่อสร้างที่ตรงใจมากที่สุด เมื่อวิธีการและความต้องการไปกันคนละทางเช่นนี้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดจะราบรื่นได้อย่างไร

 

ด้วยความจำกัดของงบประมาณ เป็นเหตุผลสำคัญที่มักทำให้ผู้ว่าจ้าง คิดเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอว่า ผู้ให้บริการรับเหมาก่อสร้างทุกราย คงมีคุณภาพงานไม่แตกต่างกัน จึงมักเลือกเจ้าที่มีราคาถูกที่สุดไว้ก่อน หรือใครบอกว่าเจ้าไหนดี ก็มักจะเลือกเจ้านั้นโดยไม่ศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อน

 

วิธีคิดแบบนี้ ไม่ต่างกับแมลงเม่าในตลาดหุ้น ที่มักมีคนเล่นหุ้นเข้ามาลงทุนโดยไม่เคยศึกษามาก่อนว่า ธุรกิจหรือกิจการที่ตนจะเข้ามาลงทุนด้วยนั้น มีรายละเอียดอย่างไร เห็นชื่อบริษัทไหนดูเข้าท่าดีหรือมีคนบอกว่าหุ้นตัวไหนดี ก็มักจะกระโจนเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นทันที โดยไม่เคยดูรายละเอียดว่า ปัจจุบันกิจการของบริษัทนั้น ยังมีโอกาสเติบโตอยู่หรือเปล่า มีเงื่อนไขของปัจจัยพื้นฐานอะไรที่เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ ความไม่รอบคอบและไม่เคยลงทุนทำการบ้านเกี่ยวกับข้อมูลของกิจการที่ตนจะซื้อเช่นนี้ ทำให้ซื้อหุ้นแล้วไม่สามารถทำกำไรหรือได้เงินปันผลตามที่คิดฝันไว้ แมลงเม่าในตลาดก่อสร้างก็ไม่ต่างอะไรกับแมลงเม่าในตลาดหุ้นที่กำลังพูดถึงนี่เอง

 

คู่สัญญาทุกรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะแต่ในธุรกิจก่อสร้าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรายละเอียดข้อตกลงในสัญญา การร่างสัญญาและรายละเอียดประกอบสัญญาจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะสามารถบอกได้เลยว่า โครงการนั้นๆ จะมีโอกาสเกิดข้อพิพาทระหว่างกันหรือไม่

 

ในสัญญาก่อสร้างนั้น แบบซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจ ในขณะที่รายละเอียดของสัญญา เปรียบเสมือนสมอง ที่ต้องคอยทำงานควบคู่กันอย่างเหมาะสม

 

ทั้งๆที่ผู้ว่าจ้างรู้อยู่แก่ใจดีว่า บ้านหรืออาคารที่จะก่อสร้าง คือเป้าหมายของตนเอง ในขณะที่ผลกำไรคือเป้าหมายของผู้ให้บริการรับเหมาก่อสร้าง การปล่อยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละราย นำเสนอแบบก่อสร้างเบื้องต้นของตนเองในการเสนอราคา จึงเป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่ต้น เพราะมีโอกาสสูงมากที่ผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละราย จะเสนอรายละเอียดของงานที่ไม่เหมือนกันเลย จึงทำให้ผู้ว่าจ้างไม่สามารถเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือกได้เลยว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใด คือผู้ที่ให้เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับผู้ว่าจ้างนั่นเอง

 

นอกจากนี้ การที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะนำเสนอรายละเอียด แบบและวิธีการก่อสร้างที่อิงกับผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลักนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะหากผู้ว่าจ้างเป็นคนออกแบบเองและเขียนรายละเอียดงานก่อสร้างเอง ก็ย่อมต้องเขียนให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดเช่นกัน ต่างกันแต่เพียงว่า ผลประโยชน์ของผู้ว่าจ้างนั้นมีความชอบธรรมในเรื่องนี้ เพราะผู้ว่าจ้างคือผู้ที่จ่ายเงินซื้อความต้องการของตนเองใช่หรือไม่ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว การนำเอาหัวใจแห่งความสำเร็จของตนเอง ไปให้ผู้อื่นกำหนดให้ตั้งแต่แรก ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นการก่อสร้างบ้าน ที่ตนเองต้องอยู่กับครอบครัวทุกวัน ย่อมต้องมีรายละเอียดความต้องการที่มากเป็นพิเศษ ยิ่งไม่สมควรที่จะจ้างทำ หากยังไม่สามารถสรุปความคิดและความต้องการของตนเอง ให้ตกผลึกได้ย่างแน่นอนแล้วเสียก่อน

 

นอกจากนี้ การทำงานทุกอย่างย่อมมีต้นทุน ผู้รับเหมาที่บอกว่ายินดีเขียนแบบให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สุดท้ายก็ต้องแฝงค่าใช้จ่ายนั้นกลับมาในราคาที่เสนออยู่ดี .ในเมื่อยังไงก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว สู้จ้างผู้ออกแบบอิสระออกแบบให้ โดยผู้ว่าจ้างต้องทำการบ้านศึกษารายละเอียดของผู้ออกแบบให้เข้าใจ และปรับแก้ไขจนได้แบบที่ตรงกับความต้องการของตนเองที่สุดให้ได้เสียก่อน แล้วจึงนำแบบที่สรุปแล้วของตนเอง เป็นต้นแบบให้ผู้รับเหมา 2-3 รายเสนอราคาเพื่อเปรียบเทียบ บนพื้นฐานความต้องการเดียวกัน ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

วิธีการแบบนี้ นอกจากจะได้งานที่ตรงกับความต้องการของตนเองที่สุดแล้ว ยังจะได้บ้านที่คุ้มค่าเงินที่ลงทุนไปมากที่สุด และยังลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าจ้างกับคู่สัญญาที่มารับเหมาก่อสร้างลงได้อีกด้วย

 

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

https://blog.buildman.biz/

 

อ้างอิง

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rmutsb-hs/article/download/154817/136586/

https://www.ocpb.go.th/graph_views.php?graph_id=25

Posted in Uncategorized.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *