ระยะความสูงจาก พื้นบ้านสู่ ฝ้าเพดาน สูงเท่าไหร่ถึงจะดี ?

ระยะความสูงจากพื้นบ้านสู่ฝ้าเพดาน สูงเท่าไหร่ถึงจะดี ? เป็นอีกประเด็นที่มักถกเถียงกันบ่อยครั้ง ทำให้หลาย ๆ ท่านที่กำลังคิดออกแบบบ้านใหม่ต้องเป็นกังวลไปตามๆ กัน
ระดับฝ้าเพดานที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายด้าน อาทิเช่น ลักษณะพื้นที่ในการใช้งาน,ความกว้างของห้อง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยกำหนดรูปแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างเช่น ห้องที่เล็ก แคบ หากปรับให้ฝ้าเพดานสูงเกินไป ห้องจะดูสูงโลดแปลกตา หรือห้องมีความกว้างมากแต่ฝ้าเพดานต่ำ ผู้อยู่อาศัยภายในห้องดังกล่าวจะรู้สึกอึดอัดเหมือนกำลังถูกกดทับ ดังนั้นผู้ออกแบบจึงคำนึงถึง ประโยชน์ของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

เราจะสังเกตได้ว่า ห้องประชุม ห้องทำงาน หรือสถานที่กิจกรรมสาธารณะ นิยมออกแบบให้ฝ้าเพดานสูงกว่าปกติมาก สำหรับบ้านเรือนทั่วไปความสูงมาตรฐานที่นิยมใช้กันประมาณ 2.5-2.8 เมตร หรือหากชอบโปร่งหน่อยประมาณ 2.8 – 3.2 เมตร เว้นแต่ห้องที่ต้องการความสูงเป็นพิเศษอาจเลือกระดับความสูงมากกว่านี้

ห้องแบบไหนควรทำฝ้าสูง? ห้องแบบไหนควรทำฝ้าต่ำ?
ห้องที่ควรทำฝ้าสูง ลักษณะการใช้งานเน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องทานอาหาร ห้องอ่านหนังสือ ห้องทำงาน สำหรับห้องที่ไม่ควรทำฝ้าเพดานสูงเกินไป คือห้องนอน มิเช่นนั้นขณะนอนผู้นอนจะรู้สึกเวิ้งว้าง นอนหลับยาก

ก่อนออกแบบฝ้าสูง คิดทบทวนดูซักนิด
ในความเป็นจริง ฝ้าเพดานสูง หากอยู่ภายในห้องที่เหมาะสมช่วยทำให้บ้านดูโปร่ง ห้องรับแขกบางบ้านเลือกที่จะเปิดโปร่งด้วยการออกแบบในลักษณะ Double Space ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบาย
แน่นอนข้อดีของความโปร่งสบายนั้นต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่บางส่วน ดังนี้

1.ซ่อมแซมได้ยาก
กรณีหลอดไฟเสีย หรือต้องการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ที่ติดตั้งไว้บริเวณฝ้าเพดาน หากฝ้ามีความสูงมากจะยากต่อการบำรุงรักษา

2.ห้องดูคับแคบ
กรณีห้องแคบ โถงทางเดินที่แคบ หากออกแบบให้ฝ้าเพดานสูง อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัดแทนที่จะได้ความโปร่งสบาย เนื่องด้วยขนาดที่ไม่ได้สัดส่วนกันจะเป็นผลให้ห้องดูแคบมากกว่าเดิมได้

3.เปลืองค่าไฟ
ลักษณะฝ้าเพดานสูงช่วยให้เกิดความปลอดโปร่ง ในวันที่อากาศดี ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ เพียงแค่เปิดพัดลมก็สามารถสบายกายได้ แต่หากเป็นบ้านในลักษณะปิด ไม่ค่อยเปิดหน้าต่าง ไม่มีช่องลมให้อากาศท่ายเท ห้องลักษณะนี้จำเป็นต้องเปิดแอร์ เมื่อพื้นที่เยอะขึ้น เครื่องปรับอากาศย่อมทำงานหนักขึ้น ค่าไฟจึงขึ้นตาม ในด้านแสงสว่าง ฝ้าที่สูงหลอดไฟทั่วไปอาจให้กำลังแสงสว่างไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเลือกหลอดไฟที่มีค่าวัตต์สูงขึ้นค่ะ

4.เปลืองพื้นที่บันได
กรณีบ้าน 2 ชั้นขึ้นไป ยิ่งออกแบบห้องให้สูงมากเท่าไหร่ ยิ่งเปลืองพื้นที่สำหรับบันไดบ้านมากขึ้นเท่านั้น เพราะยิ่งระดับความสูงมากขึ้น จำนวนขั้นบันไดมากขึ้น จึงต้องใช้พื้นที่ของลูกบันไดมากขึ้นตามอัตโนมัติ

5.ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างผนัง เมื่อฝ้าเพดานสูงขึ้น
การทำผนังต้องสูงขึ้นตาม นั่นหมายถึงค่าอิฐ ปูนก่อ ปูนฉาบ ค่าแรงย่อมสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังส่งผลให้น้ำหนักมากขึ้น ค่าโครงสร้างย่อมสูงขึ้นตามเช่นกัน ค่าใช้จ่ายประตู หน้าต่าง เมื่อฝ้าเพดานสูงขึ้นมาก การเลือกใช้ประตูหน้าต่างขนาดมาตรฐาน อาจทำให้ดูไม่สมส่วนกัน บ้านที่มีเพดานสูงจึงจำเป็นต้องเปิดช่องประตู ช่องหน้าต่างให้สูงตาม และบานประตูหน้าต่างที่สูงปกติไม่มีขายทั่วไป จำเป็นต้องสั่งทำขนาดพิเศษขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าขนาดมาตรฐานทั่วไปค่ะ

ฝ้าเพดานต่ำ เราจะแก้ได้อย่างไร 
สำหรับบ้านที่ไม่ได้ออกแบบมาให้มีฝ้าเพดานสูง แต่อยากได้ความรู้สึกโปร่งสบายเช่นเดียวกับฝ้าสูง ก็สามารถแก้ไขได้ดังต่อไปนี้

1.ทาสีสว่างหรือติดวอลเปเปอร์ลายแนวตั้งให้กับผนังห้อง
เช่นสีขาว เทาอ่อน สีครีมอ่อน เป็นต้นเลือกใช้ผ้าม่านที่ดูสูงโปร่ง หรือผ้าม่านขาวบาง เพิ่มความสว่างโล่งโปร่ง

2.เปิดช่องแสงให้มากขึ้น
ช่องแสงที่เยอะช่วยให้สายตาผู้อยู่อาศัยมองไปภายนอก อีกทั้งยังเพิ่มความสว่าง เพิ่มอากาศถ่ายเทให้กับห้องอีกด้วย

3.รื้อฝ้าเพดานออก
เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับบ้านเท่ ๆ โมเดิร์นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะบ้านที่มี 2 ชั้นขึ้นไป สามารถเลือกที่จะไม่ทำฝ้าเพดาน เพื่อให้ภายในดูโปร่งขึ้น แต่ต้องอาศัยการตกแต่งให้เหมาะสมกับรูปแบบดังกล่าว และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการทำระบบท่อร้อยสายไฟเพื่อความสวยงามครับ
พอจะได้คำตอบกันบ้างแล้วหรือยังคะ ว่าห้องแต่ละห้องภายในบ้านของเรา ควรมีความสูงของฝ้าประมาณเท่าไหร่ถึงจะดี ความพอดีในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน หากเป็นไปได้ก่อนออกแบบ เจ้าของบ้านลองหาโอกาสเยี่ยมบ้านเพื่อน บ้านญาติ เพื่อให้ได้สัมผัสถึงขนาดสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป เกิดการเปรียบเทียบและพิจารณา อาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ

บิลด์แมน (buildman) เรามีผู้รับเหมาที่เชื่อถือได้ ให้บริการดูแลเกี่ยวกับการสร้างบ้านครบวงจร พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ ไว้ใจให้บิลด์แมน ดูแลเรื่องการสร้างบ้าน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ https://buildman.biz

ตลาดกลางรับเหมาก่อสร้าง ที่จบครบในที่เดียว “ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ วัสดุก่อสร้าง” พร้อมเป็นคนกลางช่วยบริหารสัญญาก่อสร้าง ฟรี!

สามารถอ่านบทความอื่นได้ที่  
 https://blog.buildman.biz
Posted in สาระความรู้เรื่องบ้าน and tagged , , , , , , .

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *