เรื่องวุ่นๆของบันได (ส่วนประกอบ)

เรื่องวุ่นๆของบันได

บันได คือส่วนสำคัญประการหนึ่งของบ้านหรืออาคารสำนักงานต่างๆ ใช้เป็นทางขึ้น-ลงระหว่างชั้นต่าง ๆ ในอาคาร จำเป็นต้องกำหนดขนาดสัดส่วนที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน

เพื่อใช้ประโยชน์ได้เพียงพอ และปลอดภัย ตาม พรบ. คุ้มครองอาคาร แต่ก่อนที่อื่นเราควรทำความรู้จักกับส่วนประกอบที่สำคัญของบันไดกันก่อนค่ะ

เวลาที่อ่านต่อเกี่ยวกับข้อกำหนดกฎหมายจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ รวมถึงปัจจุบันมีบันไดหลายรูปแบบ เราจะได้เลือกได้เหมาะสม ตรงใจและคุ้มค่าที่สุดกันค่ะ

ตอนที่ 1 ส่วนประกอบ

  • ลูกตั้ง Riser

ความหมาย : “ส่วนที่เป็นความสูงของขั้นบันได”  จำนวนลูกตั้งทั้งหมดรวมกันเข้าเป็นความสูงของบันได

ข้อควรคำนึง : ลูกตั้งควรสูงเท่ากันทุกขั้น (ในกรณีบ้านพักอาศัยกำหนดไว้ ไม่เกิน 20 เซนติเมตร) เนื่องจากโดยปกติแล้ว พฤติกรรมการการเดินขึ้น-ลงบันไดของผู้คน มักจะเดินโดยไม่ได้มองที่ขั้นบันไดและเดินด้วยความรู้สึกคุ้ยเคย

ก้าวขึ้น-ลงอย่างเท่าๆกันไปทุกขั้น หากบันไดแต่ละขั้นมีความสูงไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือสะดุดล้มได้  ดังนั้นการมีลูกตั้งที่สูงเท่ากันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในเรื่องความปลอดภัย

  • ลูกนอน Tread

ความหมาย : ส่วนที่เป็น “ความกว้างของพื้นบันได” แต่ละขั้นที่เท้าเหยียบ จำนวนของลูกนอนรวมกันเข้าเป็นความยาวของบันได

ข้อควรคำนึง : เช่นเดียวกับลูกตั้ง ลูกนอนของบันไดก็ควรมีความกว้างที่เท่ากัน เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมการเดินขึ้น-ลงของผู้ใช้บันได และควรมีความกว้างเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้ว

เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด (ในกรณีบ้านพักอาศัยกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร) เพื่อให้มีระยะวางเท้าได้มากพอและปลอดภัยเวลาเหยียบลงไปแต่ละขั้น และเดินขึ้น-ลงได้อย่างไม่ลำบากนั้นเอง

ทั้งนี้เพราะผู้อยู่อาศัยในบ้านอาจจะมี ผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางร่างกายรวมอยู่ด้วย

  • แม่บันได Stringer

ความหมาย : โครงสร้างบันได ที่เป็นคานรองรับน้ำหนัก และแรงกดที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน โดยวางในแนวเอียง จะเห็นได้ชัดในกรณีที่ไม่ใช่โครงสร้างคอนกรีต เช่น ใช้เป็นไม้หรือเหล็ก เป็นต้น

ข้อควรคำนึง : มุมของแม่บันไดขึ้นอยู่กับการกำหนดลูกตั้ง และลูกนอนว่าใช้มากน้อยเพียงไร ถ้าเราใช้ลูกตั้งสูงมากขึ้นเท่าไรก็จะได้บันไดชันมากขึ้นตามส่วน ทั้งจะสัมพันธ์กับลูกนอนซึ่งจะลดจำนวนลงไปด้วย

การวางแม่บันไดจึงจะกำหนดลูกตั้งและลูกนอนเสียก่อน แม่บันไดนั้นตามปกติใช้ 2 ตัว แต่อาจออกแบบให้มีตัวเดียวตรงกลาง หรือไม่มีปรากฏให้เห็นเลยก็ได้ เช่นแบบที่ฝังอยู่ในผนัง

  • พุกบันได BEARER OR CLEAT

ความหมาย : ส่วนของบันไดที่เป็นชิ้นรับน้ำหนักและยึดลูกนอนบันไดเข้ากับแม่บันไดที่วางเฉียง มักจะใช้กับบันไดที่เป็นไม้

บันไดบางแบบอาจไม่ใช้พุกโดยฝังปลายลูกนอนไว้กับแม่บันไดเลยก็ได้

  • ชานพักบันได Landing

ความหมาย : พื้นที่ที่อยู่คั่นอยู่ระหว่างช่วงบันได

ข้อควรคำนึง : ซึ่งถูกกำหนดให้มีความกว้างและยาวอย่างน้อยเท่ากับความกว้างบันได และบันไดที่สูงเกิน 3 เมตรต่อชั้น ต้องมีชานพัก

–        พื้นหน้าบันได floor in front of stairs

ความหมาย : บริเวณพื้นก่อนเดินขึ้น-ลงบันไดขั้นแรก รวมถึงบริเวณพื้นหลังของบันไดขั้นสุดท้าย

ข้อควรคำนึง : ซึ่งถูกกำหนดให้มีความกว้างและยาว ไม่น้อยกว่าความกว้างบันได เพื่อให้ผู้ที่เดินขึ้นลงได้มีที่พักที่ปลายทาง และก่อนการเดินลงมีพื้นที่พอสำหรับการเตรียมตัวก้าวขาลงได้อย่างถนัด

  • ช่วงบันได FLIGHT

ความหมาย : บันได(ระหว่างชั้น) หรือ ชั้นบันได เป็นช่วงหรือชุดของบันไดที่อยู่ระหว่างพื้นของชั้นบ้านหรื่ออาคาร ไม่ใช่ขั้นบันไดแต่ละขั้น

ข้อควรคำนึง : ช่วงหนึ่ง ๆ ไม่ควรเกิน 11 – 12 ขั้น (ลูกตั้ง)  ควรต้องมีชานพักบันได ซึ่งถึงแม้ตามกฎหมายจะระบุไว้ว่า บันไดช่วงหนึ่งต้องสูงไม่เกิน 3 ม. หากเกินนั้นจะต้องมีชานพักก็ตาม

  • เสาบันได POST

ความหมาย : ทำหน้าที่รับน้ำหนักของชานพักบันได ซึ่งแม่บันไดไปพาดอยู่ หรือหมายถึงเสาค้ำยันตรงปลายล่าง และบนของบันได มักจะมีในกรณีที่ไม่สามารถฝากน้ำหนักของบันได เข้ากับโครงสร้างอื่นของตัวอาคารได้

  • ราวบันได Handrail

ความหมาย : ส่วนที่ใช้สำหรับเกาะพยุงตัวในการขึ้นบันได

ข้อควรคำนึง : ในช่วงบันไดสูง ๆ ต้องมีอย่างน้อย 1 ข้าง ใช้เสารับเป็นระยะ หรือจะตรึงติดผนังก็ได้แล้วแต่แบบ ความสูงของราวบันไดวัดตั้งแต่พื้นไม่ควรเกิน 80 เซ็นติเมตร

  • ลูกกรง Baluster

ความหมาย : ส่วนของบันไดที่ทำหน้าที่กันตก ใช้ยึดกับราวบันไดตลอดแนว

ข้อควรคำนึง : ลูกกรงนี้มีแบบ และขนาดมากมายแล้วแต่วัสดุที่ใช้ ควรเลือกให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงอายุของผู้ใช้งานด้วย การเว้นช่วงที่ห่างเพื่อความสวยงาม อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีเด็กเล็กอยู่ในอาคารนั้นด้วย

  • จมูกบันได Nosing

ความหมาย : ส่วนที่ยื่นออกมาจากปลายของลูกนอน

ข้อควรคำนึง : โดยมักจะยื่นออกมาประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่วางเท้า และโดยทั่วไปจะมีการหุ้มด้วยวัสดุกันลื่น หรือเซาะร่อง ซึ่งจะช่วยกันลื่น และช่วยให้ผู้ใช้บันไดสังเกตเห็นบันไดแต่ละขั้นได้ง่ายขึ้น

Posted in Uncategorized.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *